03-praduu-abbreviation-01

นักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษาได้รับรางวัลจากการนำเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และอาณาบริเวณศึกษาของนิสิตปริญญาตรีระดับประเทศ

ขอแสดงความยินดีกับนายกาญจนพงค์ รินสินธุ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ที่ได้รับทั้งรางวัลบทความยอดเยี่ยมและรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม จากการนำเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และอาณาบริเวณศึกษาของนิสิตปริญญาตรีระดับประเทศ ในวันที่ 19 เมษายน 2562 ณ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในกลุ่มงานอาณาบริเวณศึกษา/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา งานนี้มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมในการนำเสนอผลงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “material culture กับการศึกษาประวัติศาสตร์”

นายกาญจนพงค์นำเสนอบทความวิชาการภายใต้ชื่อ “ล้วนแต่มีที่ของตน ความหดหู่ของผู้ชาย และความล่มสลายของค่านิยมเก่าในเวียดนามหลังยุคปฏิรูป” ซึ่งปรับมาจากงานแปลวรรณกรรมที่นายกาญจนพงค์แปลวรรณกรรมภาษาเวียดนามมาเป็นภาษาไทย จากต้นฉบับความยาวกว่าร้อยหน้า “ล้วนแต่มีที่ของตนฯ” เป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นโดยนักเขียนชายชื่อว่า ฟานเฉี่ยวหาย ที่ชี้ให้เห็นความเป็นชายที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของเวียดนาม

ขณะเดียวกัน นางสาวนรัชย์ธรณ์ ทองใบสุวพล และนางสาวนิศธิดา พันธ์ศรี ก็ได้ศึกษาและแปลวรรณกรรมเวียดนามที่ประพันธ์โดยกลุ่มนักเขียนหญิง ซึ่งนำเสนอในบทความชื่อว่า ”ผู้หญิงในวรรณกรรมเวียดนามหลังยุคโด๋ยเม้ย: เสรีภาพในกรอบอุดมการณ์ความเป็นหญิง” งานนี้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเพศสภาวะของเวียดนามหลังยุคปฏิรูปเช่นกัน แต่เน้นการกล่าวถึงตัวละครหญิงเป็นหลัก

ความสนใจในวรรณกรรมเวียดนามนี้พัฒนาขึ้นมาจากช่วงเวลาที่นักศึกษาเรียนภาษาและวัฒนธรรมอยู่ที่ประเทศเวียดนามเป็นเวลาหกเดือนเมื่อชั้นปีที่ 3 แล้วนำกลับมาทำโครงงานเมื่อกลับมาศึกษาในชั้นปีที่ 4 เช่นเดียวกับผลงานที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นของนักศึกษาในหลักสูตรที่เข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ได้แก่

“ดังดุต กอปโล: ศิลปินหญิง ความนิยม และการต่อรองทางอุดมการณ์ในสังคมอินโดนีเซียร่วมสมัย” โดยนางสาวพัธตู ลีเฮ็ง และนางสาวสาลีนา ยูโซะ ที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเพลงดังดุตแบบใหม่ในสังคมชวาในระยะ 6 เดือนที่ศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอยู่ ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยเน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของอุตสาหกรรมดนตรีประเภทดังกล่าวซึ่งได้รับความนิยมมากในอินโดนีเซียภายใต้กระแสต่อต้าน

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่นำเสนอเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ไฮฟอง: ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใน(?)กรอบเรื่องเล่าแห่งชาติ” โดย นางสาวเมทินี เทพแก้ว และนางสาวอมราวดี สายสุวรรณ ที่พัฒนาโครงงานนิตยสารท่องเที่ยวของตนเองให้กลายมาเป็นบทความวิชาการเพื่อนำเสนอในเวทีนี้ งานดังกล่าวไม่ได้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของเมืองไฮฟอง (เมืองท่าแห่งสำคัญทางตอนเหนือของเวียดนาม) จากสารที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์นี้อย่างตรงไปตรงมา แต่พยายามชี้ให้เห็นว่า ภายใต้การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้พยายามนำเสนอให้ผู้เยี่ยมชมได้รับรู้เกี่ยวกับไฮฟองและเวียดนามอย่างไร ซึ่งพบว่าไม่ได้เป็นไปตามกรอบของโครงเรื่องเล่าหลักแบบประวัติศาสตร์ชาติเสียทีเดียว

อีกผลงานหนึ่งมาจากนักศึกษาที่เก็บข้อมูลในระหว่างศึกษาอยู่ ณ ประเทศมาเลเซีย เรื่อง “แรงงานเมียนมาร์ในกัวลาลัมเปอร์: การย้ายถิ่น การสร้างตัวตน และความพร่าเลือนของขาติพันธุ์” โดย นางสาวอุไรวรรณ สุมาลี ซึ่งปรับมาจากโครงงานประเภทงานเขียนสารคดี บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการย้ายถิ่นของแรงงานสัญชาติเมียนมาร์นั้นมีสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งยังพบการสร้างตัวตน ขยับสถานะผ่านการต่อรองและปรับตัวในหลายวิธีของแรงงานเมียนมาร์ที่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รวมทั้งยังพบความไม่ชัดเจนของการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์คนกลุ่มนี้ในลักษณะที่เกิดในประเทศไทยอีกด้วย

ผลงานเหล่านี้เกิดจากความเพียรพยายามในการเก็บข้อมูลของนักศึกษาขณะที่ศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอยู่ในประเทศต่างๆ ตามความสนใจของตนเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อพัฒนาเป็นโครงงานประเภทต่างๆ ตามความถนัดของตนในรายวิชาอาเซียนอาเซียนศึกษา จากนั้นก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นบทความวิชาการเพื่อนำเสนอในเวทีดังกล่าว

ขอบคุณภาพจาก: เพจ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

Facebook Comments Box