03-praduu-abbreviation-01

หน่วยวิจัยโบราณคดี (Research Unit for Archaeology)

1. หลักการและเหตุผล          

          การศึกษาอดีตนั้นมีความสำคัญสำหรับทุกสังคม  เพราะทุกสังคมจำเป็นที่จะต้องรู้ความเป็นมาของตนเองและดินแดนที่ตนเองอาศัยอยู่  การรู้จักอดีตของตนเองและท้องถิ่นของตนเองนั้น  นอกจากจะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมของโลกแล้วนั้น  ยังทำให้เกิดสำนึกรักถิ่นฐานและการก้าวย่างไปสู่อนาคตของสังคมหนึ่งๆ เป็นไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง 

          การศึกษาอดีตนั้นมีหลายช่องทาง  แต่ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ ช่องทางที่ใช้วิชาประวัติศาสตร์ ที่เน้นหนักการอ่านเอกสารและจารึก  วิชาโบราณคดีนั้นก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เน้นการศึกษาอดีตของมนุษยชาติ  แม้จะไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเท่าวิชาประวัติศาสตร์  แต่วิชาโบราณคดีก็มีวิธีการเฉพาะที่ทำให้การศึกษาอดีตสมบูรณ์ขึ้น  กล่าวคือ  วิชาโบราณคดีนั้นเน้นหนักการศึกษา “วัตถุวัฒนธรรม” หรือร่องรอยของวัฒนธรรมในอดีตที่จับต้องได้  อาทิเช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน การกระจายตัวของแหล่งโบราณคดีในภูมิประเทศหนึ่งๆ ผังชุมชน และผังเมือง เป็นต้น  วัตถุวัฒนธรรมหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถเติมเต็มการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี  เพราะเอกสารทางประวัติศาสตร์ มักจะถูกเขียนขึ้นโดยชนชั้นสูงของสังคมหรือโดยจุดประสงค์ที่เนื่องในศาสนาเป็นสำคัญ  แต่หลักฐานทางโบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผา และแผนผังของชุมชน สามารถบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดาสามัญได้  ดังนั้น การศึกษาทางโบราณคดีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการศึกษาอดีตของมนุษยชาติ

         นครศรีธรรมราชและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้น  ตั้งอยู่ในอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพราะตั้งอยู่บนคาบสมุทรสยามที่เป็นรอยเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก  และระหว่างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารยธรรมอินเดียและจีน  การเป็นรอยต่อของอารยธรรมที่หลากหลายเหล่านี้ ทำให้คาบสมุทรแห่งนี้มีเมืองท่าที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในราวสมัยพุทธกาล  เช่น เมืองท่าเขาสามแก้ว และเมืองท่าภูเขาทอง ที่เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญในบริเวณคอคอดกระ  การเป็นส่วนหนึ่งของการค้าทางทะเลข้ามทวีปเอเชียมีส่วนทำให้รัฐต่างๆ พัฒนาขึ้นในดินแดนแห่งนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 10 และรัฐที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนแห่งนี้คือ “รัฐตามพรลิงค์” ที่เป็นรากฐานให้ “รัฐนครศรีธรรมราช” ในราวพุทธศตวรรษที่ 18  ซึ่งทั้งสองรัฐมีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

          เมื่อมองในภาพกว้าง  การศึกษาทางโบราณคดีทำให้เราสามารถเข้าใจพัฒนาการของสังคมหนึ่งๆ ได้อย่างลึกซึ้ง  และสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกเข้าไว้ด้วยกัน  ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในโลกปัจจุบันมากขึ้น  เมื่อมองในภาพจำเพาะ การศึกษาทางโบราณคดีของคาบสมุทรสยามและนครศรีธรรมราชจะนำไปสู่ความเข้าใจในอารยธรรมคาบสมุทรที่มีความเชื่อมโยงกับดินแดนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง  ในคาบสมุทรแห่งนี้ มีโบราณวัตถุสถานกระจายตัวอยู่อย่างมากมาย  และส่วนหนึ่งก็ได้ถูกค้นพบในเขตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เอง  ซึ่งอาจจะนับเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่มีโบราณสถานที่เก่าแก่มากตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัย เช่น โบราณสถานตุมปัง และโบราณสถานเนินอิฐ เป็นต้น  ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาถึงอารยธรรมของมวลมนุษยชาติและอารยธรรมคาบสมุทรในเชิงลึก  รวมถึงการให้การศึกษาแก่นักศึกษาและสังคมโดยรวมให้รู้ซึ้งถึงอดีตที่ต่างมีร่วมกันและให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่ามิได้  จึงเห็นควรเสนอให้ก่อตั้งหน่วยวิจัยโบราณคดี ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  

2. เป้าหมายและทิศทางของหน่วยวิจัย          

          หน่วยวิจัยโบราณคดีมีเป้าหมายในเบื้องต้นเพื่อส่งเสริมโครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำความร่วมมือกับโปรแกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโปรแกรมโบราณคดีของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา  ศูนย์นาลันทา-ศรีวิชัยของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์  และสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ประเทศฝรั่งเศส  ในสมัยของอธิการบดีไทย ทิพย์สุวรรณกุล  ในปี พ.ศ. 2553

         โครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยามมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) การศึกษาวิจัยทางโบราณคดีอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ (2) การส่งเสริมการตีพิมพ์ข้อมูลใหม่และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโบราณคดีเพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและข้อค้นพบใหม่ๆ ในวงวิชาการและสังคมโดยรวม (3) การส่งเสริมการเรียนการสอนทางโบราณคดีทั้งในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และนอกสถาบันการศึกษาเพื่อให้ความรู้ไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด รวมถึงอาจจะมีการเปิดการเรียนการสอนภาคสนาม (Field School) ให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และ (4) การส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางโบราณคดีโดยอาจจะเริ่มจากการจัดตั้งชมรมนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ได้เดินทางออกไปสู่ชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านและสร้างสำนึกรักมรดกทางโบราณคดีให้เกิดขึ้น

          สำหรับทิศทางของหน่วยวิจัยโบราณคดีนั้น  มุ่งที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางโบราณคดี  ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะต้องใช้การบูรณาการของวิชาหลากหลายสาขา  ดังนั้นหน่วยวิจัยนี้จึงถูกออกแบบให้มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาที่จะช่วยกันทำงานวิจัยแบบสหวิทยาการ (inter-disciplinary research) และมุ่งที่จะพัฒนาไปสู่การก่อตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศทางโบราณคดีเพื่อขยายงานวิจัยแบบสหวิทยากรให้มากขึ้นในอนาคต

3. บุคลากรที่ร่วมในหน่วยวิจัย  (ระบุชื่อ ตำแหน่ง สำนักวิชา และความเชี่ยวชาญ)

          3.1 ดร. วัณณสาส์น นุ่นสุข (หัวหน้าหน่วยวิจัย) อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์  เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ภูมิวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลปะ

          3.2 คณิตสรณ์ สุริยะไพบูลย์วัฒนา  อาจารย์ประจำสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเว็บไซต์และฐานข้อมูล ซึ่งขณะนี้ได้ทำวิจัยร่วมกับ ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข และอาจารย์สายพิชญ์ สัจจวิเศษ  ในโครงการวิจัยระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย ที่ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ อาจารย์คณิตสรณ์กำลังดำเนินการออกแบบเว็บไซต์ให้กับโครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยามเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีที่จะเข้าถึงสังคมปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอันหนึ่ง 

          3.3 สายพิชญ์ สัจจวิเศษ  อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบฐานข้อมูล ซึ่งขณะนี้ได้ทำวิจัยร่วมกับ ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข และอาจารย์คณิตสรณ์ สุริยะไพบูลย์วัฒนา ในโครงการวิจัยระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย ที่ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เรียบร้อยแล้ว

          3.4 สุธีระ ทองขาว  อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาตร์และทรัพยากร  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ การทำแผนที่ การแปลความภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม และ Geographic Information System (GIS) ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ  และการกระจายตัวของชุมชนในสภาพภูมิศาสตร์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          3.5 กิตติ เชาวนะ  อาจารย์ประจำสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง  ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาและบันทึกรูปแบบโบราณสถานและการวางผังชุมชนในสมัยโบราณ 

4. แผนปฏิบัติการ

          4.1 แผนระยะยาว 3-5 ปี ในระยะเวลา 5 ปี หน่วยวิจัยโบราณคดีมีแผนที่จะทำวิจัยอย่างเข้มข้นในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีโบราณสถานในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 5-14) กระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่นมาก  อาทิเช่น กลุ่มโบราณสถานในเขตอำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล  รวมถึงการให้การศึกษาทางโบราณคดีในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และการบริการวิชาการแก่สังคมโดยรอบ

          4.2 แผนงานวิจัย (ขณะนี้หน่วยวิจัยมีโครงการวิจัยทั้งหมด 5 โครงการ ประกอบด้วย)

                    4.2.1 โครงการวิจัยระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล จำนวน 340,000 บาท

                    4.2.2 โครงการวิจัยภูมิวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล จำนวน 500,000 บาท

                    4.2.3 โครงการวิจัยพัฒนาการของชุมชนแรกเริ่มในเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก  จำนวน 200,000 บาท

                    4.2.4 โครงการวิจัยชุมชนโบราณในบริเวณตอนกลางของอำเภอสิชล  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน 360,000 บาท

                    4.2.5 โครงการวิจัย Early Brahmanical Traditions in Maritime Southeast Asia: An Archaeological Perspective ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จำนวน 4,8000 ยูโร

5. ความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ

          จากการที่หน่วยวิจัยนี้มีการออกแบบให้เป็นสหวิทยาการ โดยประกอบด้วยผู้วิจัยจาก 5 สำนักวิชา ประกอบด้วย สำนักวิชาศิลปศาสตร์  สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์  สำนักวิชาการจัดการ  สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร  และสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จึงมีความเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางภายในมหาวิทยาลัย  ในรูปแบบของการเรียนการสอน ทางหน่วยวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการบรรจุวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาโบราณคดีในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเอเชียศึกษา และเปิดให้มีจุดเน้นพิเศษ (concentration) ในด้านโบราณคดีในหลักสูตรนี้แล้ว  และมีการวางแผนจะเปิดรายวิชาเลือกเสรีที่เกี่ยวกับโบราณคดีในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย และในรูปแบบของการฝึกฝน (Field School and Training) ในงานภาคปฏิบัติทางโบราณคดีที่จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทุกสำนักวิชาเข้าร่วม  นอกจากนี้ หน่วยวิจัยโบราณคดียังจะสร้างความร่วมมือกับอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ในการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีในเขตมหาวิทยาลัย  และกับอุทยานการศึกษาวิทยาศาสตร์ในการจัดแสดงนิทรรศการและการให้ความรู้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอีกด้วย

          สำหรับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยนั้น  หน่วยวิจัยนี้จะใช้เครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่แล้วของโครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยามในการขยายและกระชับความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  ขณะนี้โครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยามได้อยู่ในขั้นตอนในการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันและการทำงานภาคสนามร่วมกัน   เป็นที่คาดหวังได้ว่า เครือข่ายความร่วมมือของหน่วยวิจัยโบราณคดีจะกว้างไกลออกไปในอนาคต

Facebook Comments Box