cropped-03-praduu-abbreviation.png
Thai Rhetoric

เอกไทยฯ ฝึกไหวพริบนักศึกษาด้วยทักษะการพูดปฏิภาณ

เมื่อวันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2565 หลักสูตรภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมการพูดปฏิภาณ ในคาบเรียนรายวิชา THA62-213 วาทศิลป์ไทย (Thai Rhetoric) โดยมีอาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา

การพูดปฏิภาณเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ผู้เรียนใช้ไหวพริบในการพูดตามหัวข้อที่กำหนดภายในระยะเวลาเตรียมตัวที่จำกัด กติกาในการพูดปฏิภาณนั้นมีอยู่ว่า อาจารย์จะสุ่มชื่อผู้เรียนทีละคนมาเป็นผู้พูด จากนั้นก็จะสุ่มคำที่ใช้สำหรับเป็นหัวข้อการพูด เมื่อผู้พูดได้รับคำแล้วก็จะมีเวลาเตรียมตัว 2 นาที จากนั้นก็จะต้องพูดหัวข้อดังกล่าวเป็นเวลา 2 นาที ทั้งนี้อนุโลมให้บวกลบได้ไม่เกิน 30 วินาที หากใครไม่สามารถพูดได้ในเวลาที่กำหนดจะต้องสุ่มคำและพูดใหม่จนกว่าจะผ่าน

อาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง กล่าวว่า การพูดปฏิภาณนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สำหรับอาจารย์แล้ว แนวทางที่นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การพูดปฏิภาณบรรลุผลสำเร็จได้มีดังนี้

  1. แบ่งโครงสร้างการพูดออกเป็น 3 ส่วน เหมือนเรียงความ ประกอบด้วย คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
  2. คำนำ ให้กล่าวถึงหัวข้อที่ได้รับในการพูด อาจเป็นการให้นิยาม หรือขยายความเรื่องนั้น
  3. เนื้อเรื่อง ให้เชื่อมโยงหัวข้อที่พูดเข้ากับประสบการณ์หรือความทรงจำของผู้พูด จะทำให้พูดได้ดี เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เราจะเล่าเรื่องที่เรารู้ดีหรือมีประสบการณ์ได้ดีกว่าเรื่องที่เรานึกขึ้นสด ๆ
  4. สรุป ให้โยงเรื่องที่พูดเข้าหาข้อคิดหรือคติธรรม จะทำให้การพูดมีสาระและสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังได้

ทั้งนี้ การพูดปฏิภาณเป็นการจำลองเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่เชื่อว่าเราทุกคนมีโอกาสได้รับเชิญให้พูดในที่สาธารณะโดยไม่ทันตั้งตัวได้เสมอ ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถก้าวข้ามสถานการณ์อันยากลำบากนั้นไปได้ การฝึกพูดปฏิภาณจึงเป็นหนทางที่เตรียมตัวผู้เรียนให้พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงเป็นอย่างดี

รายวิชาวาทศิลป์ไทยเปิดสอนทุกปีการศึกษาให้แก่นักศึกษา #เอกไทยวลัยลักษณ์ และเปิดสอนเป็นวิชาเลือกเสรีให้แก่นักศึกษาทุกหลักสูตรในมหาวิทยาลัยในบางภาคการศึกษา ติดตามรายละเอียดรายวิชาได้ที่ ces.wu.ac.th

Facebook Comments Box