Breaking News

ปรัชญา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) (2550) ให้คำจำกัดความของรายวิชาศึกษาทั่วไปอย่างชัดเจนว่า วิชาศึกษาทั่วไปมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาชีพเป็นเหมือนการสร้างเครื่องมือให้บัณฑิตวิชาศึกษาทั่วไปมีหน้าที่ทำคนให้เป็นบัณฑิตหรือสร้างบัณฑิต มีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาคนเพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม ประณีต ประเสริฐสมกับความเป็นมนุษย์หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคนเต็มคน มีชีวิตที่มีอิสรภาพและมีความสุข

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (2552) ก็กล่าวถึงวิชาศึกษาทั่วไปอย่างสอดคล้องกับความคิดข้างต้น โดยกล่าวว่าวงการอุดมศึกษาไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาทั่วไปหรือวิชาศึกษาทั่วไปมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นผลจากการวิเคราะห์หลักสูตรของการอุดมศึกษาไทย 5 แห่ง พบว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนแนววิชาชีพในวงแคบ หลักสูตรในยุคนั้นต้องการดึงคนไปสู่สาขาวิชาชีพและมหาวิทยาลัยในยุคนั้นเหมือนโรงเรียนอาชีวะชั้นสูง ที่จริงรายวิชาศึกษาทั่วไปเป็นการศึกษาที่จำเป็นสำหรับทุกคน ความเป็นบัณฑิตจะวัดกันที่ว่ามีความเป็นคนอยู่แค่ไหน มีความเป็นนักวิชาชีพอยู่แค่ไหน หรือที่เรียกว่า Manhood (ความเป็นคน) กับ Manpower (กำลังคน) คนที่เป็นบัณฑิตจะต้องมีทั้ง 2 ด้าน วิชาศึกษาทั่วไปจึงเป็น วิชาสร้างคน”

คณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เห็นความสำคัญของวิชาศึกษาทั่วไปสอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าวมา จึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีในส่วนของวิชาศึกษาทั่วไปไว้อย่างชัดเจน ดังที่ให้ความหมายของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปไว้ แม้จะจะมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่คงให้ความสำคัญต่อวิชาศึกษาทั่วไปไม่ต่างไปจากเดิม

เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี

พ.ศ. 2548

เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี

พ.ศ. 2558

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง  หมวดวิชาที่
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวางมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติ ตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี  มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างดี
หมวดวิชาศึกษาทั่วไป  หมายถึง  หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก

 

หากพิจารณาการจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปในต่างประเทศก็พบว่าสอดคล้องกับความเข้าใจและความพยายามจัดการศึกษาของประเทศไทย เช่น National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ จัดทำ NUS Education Frameworks ของตนเองและจัด General Education เป็นกลุ่ม ๆ ให้หลักสูตรเลือกตามความเหมาะสม โดยกำหนดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาของหลักสูตร กลุ่มของวิชาศึกษาทั่วไปแบ่งเป็น

1) การเรียนรู้การเป็นพลโลกเพื่อจะได้เข้าใจสังคมโลก (Global learning)

2) การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning)

3) การบริหารจัดการ (Management)

4) การเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneurship)

5) การเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างสาขาและหลากหลายสาขาร่วมกัน (Multidisciplinary and Interdisciplinary Learning) แบ่งเป็นสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities and Social Sciences) วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics) และสาขาอาชีพต่าง ๆ (Professional Disciplines) (ข้อมูลจากการประชุมข้อมูลจากการประชุมร่วมกันระหว่างเครือข่ายศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทยกับผู้แทนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 ระหว่างเวลา 9.30-11.30 น.

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กำหนดปรัชญาของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปอย่างสอดคล้องกับความคิดและการดำเนินการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในขณะที่ก็สอดคล้องกับบริบทที่เฉพาะเจาะจงของตนเองด้วย คือ มุ่งหวังให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเป็นคนดีและมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมหาวิทยาลัยมีความจริงจังที่จะจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักศึกษามีความสุขในการเรียน การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและในมหาวิทยาลัยทั่วไป มีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีความความคิดที่เป็นระบบ สามารถใช้ความคิดดังกล่าวในการเรียนและการตัดสินใจทั่วไป มีความสามารถในการจัดการเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองทั้งที่เกี่ยวกับชีวิตตนเอง และที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นและสังคม มีความสามารถในการสื่อสารทั้งการใช้ภาษาไทยพัฒนาการเรียนรู้และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ภาษาภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารสำหรับโลกยุคไร้พรมแดนได้ดี  มีความซาบซึ้งในคุณค่าที่ดีงามของสังคม ความงามของธรรมชาติ และความงามของศิลปะ มีความเข้าใจ
การเปลี่ยนแปลงของโลกและเป็นพลเมืองโลกที่ดี

การจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยจึงมุ่งที่ความเจริญงอกงามของนักศึกษาที่สอดคล้องกับปรัชญาดังกล่าว และเป็นการจัดการศึกษาที่สามารถประเมินผลได้

Facebook Comments Box
Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.