วิธีการดำเนินงาน_t2

วิธีการดำเนินงาน

      วิธีการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นวิธีการดำเนินงานที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้กับโครงการหลวงดังนี้

1) ลดขั้นตอน หมายถึง ให้กระจายอำนาจ
2) ปิดทองหลังพระ
3) เร็ว ๆ เข้า
4) ช่วยเขาช่วยตัวเอง

       แนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวงสนองตามพระราชดำริที่ว่า “ช่วยชาวเขาให้ช่วยตนเองในการปลูกพืชที่มีประโยชน์ และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น” ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมีส่วนช่วยให้มูลนิธิฯ สามารถพัฒนาการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่หนาวเย็นได้ก็คือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอาจารย์ นักวิชาการสาขาต่างๆ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม การปฏิบัติงานทดลองค้นคว้าในเรื่องใด ๆ ที่มุ่งสนองความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ และผลงานวิจัยเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดไปสู่เจ้าหน้าที่สนาม รวมไปถึงเกษตรกรอย่างฉับพลัน ทุกเดือนนักวิจัย นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่สนามจะพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อร่วมวางแผนการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือเพื่อให้งานวิจัยต่างๆเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรมากที่สุด

        หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี ทรงกล่าวถึงการดำเนินงานที่ครบวงจร โดยได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือ “ประพาสต้นบนดอย” ดังนี้

        “ในระยะแรก ถึงแม้เราจะไม่มีพืชใหม่ๆ มาส่งเสริมให้ปลูกตามดอยกันมากนักก็ตาม เราก็พยายามเอาผลการวิจัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยทำสิ่งที่ควรทำให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เรียกกันว่า “ครบวงจร”คือ

        วงแรก    คือ การสำรวจดิน และน้ำ

       วงที่สอง คือ การปลูกป่าในที่ที่ควรเป็นป่า ส่วนที่เหมาะแก่การเกษตรก็ต้องทำขั้นบันไดทำทางระบายน้ำ ปลูกหญ้าแฝก สิ่งที่ต้องจัดการต่อไปในวงเดียวกัน คือการชลประทาน ซึ่งบนดอยมักขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้เรื่องพื้นฐานที่ต้องดำเนินการต่อในวงนี้คือ การคมนาคม

        วงที่สาม คือ การวิจัย ซึ่งจะหยุดไม่ได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่การวิจัยพืชเมืองหนาวทุกชนิด เนื่องจากวิธีการปลูกพืชเมืองหนาวเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับเราคนไทย

        วงที่สี่ คือ การส่งเสริมนำผลงานวิจัยไปให้เกษตรกร รวมถึงการอารักขาพืช การพัฒนาคน และการสาธารณสุข เพื่อ “ช่วยเขาช่วยตัวเอง”

       วงสุดท้าย คือ การขนส่ง การคัดบรรจุ การเก็บรักษา และการจำหน่าย

      พื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงบนดอย แบ่งตามลักษณะงาน ได้ดังนี้

1. สถานีวิจัย

       สถานีวิจัยของโครงการหลวง เน้นการศึกษาวิจัยการปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง ตลอดจนเป็นสถานที่ให้การอบรมและถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในด้านต่างๆ ประกอบด้วยสถานีวิจัย 4 แห่ง ได้แก่

•    สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
•    สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
•    สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
•    สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง

       ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเป็นพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงต่าง ๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันมีทั้งหมด 39 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน และ ตาก

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.