ความเป็นมาของหลักสูตร

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทย (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงมาจากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาไทยศึกษาบูรณาการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559)  ทั้งนี้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาไทยศึกษาบูรณาการ เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 หลักสูตรภาษาไทยได้จัดกลุ่มการเรียนการสอนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาภาษาและวรรณกรรมไทย กลุ่มวิชาไทยศึกษา และกลุ่มวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ  โดยมุ่งเน้นให้ศึกษาและรอบรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ด้านภาษาไทยเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการรักษาสิ่งดีงามอันเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทย รวมทั้งเพื่อรักษาองค์ความรู้และสืบทอดสิ่งดีงามดังกล่าวไปยังสังคมอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตนในกระแสโลกาภิวัตน์และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้น “เป็นหลักในถิ่น” และ “เป็นเลิศสู่สากล”

หลักสูตรภาษาไทยได้ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการกำลังคนของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความรู้ มีทักษะและมีทัศนคติกว้างไกลในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องไม่จำกัดตัวเองเฉพาะความรู้ที่ได้เรียนมาเท่านั้น แต่ต้องสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้จึงมุ่งที่จะให้มีการบูรณาการความรู้ทั้งในด้านทางภาษาและวรรณกรรม ไทยศึกษา และภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการประกอบอาชีพ รวมทั้งสามารถใช้ประสบการณ์ด้านไทยศึกษาในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน องค์กร และหน่วยงานในมิติต่างๆ ได้อย่างราบรื่นและสร้างสรรค์ เนื่องจากผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจมิติทางสังคมและใช้ความรู้ดังกล่าวประกอบการสื่อสารอยู่ด้วยเสมอ

อนึ่ง การปรับปรุงหลักสูตรในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้นเนื้อหาในหลักสูตรจึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสำนึกความเป็นไทยของเด็กไทย และให้ความรู้ด้านภาษาไทย/ไทยศึกษา แก่ชาวต่างชาติ เพื่อรองรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการก้าวสู่ความเป็นสากลแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยจากนานาชาติที่มีข้อตกลงความร่วมมือในเชิงวิชาการกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถส่งนักศึกษามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสร้างหลักสูตรร่วมกันในอนาคต รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาหลักสูตรภาษาไทยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานระดับนานาชาติได้มากยิ่งขึ้นและเพื่อให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์มากที่สุดหลักสูตร ฯ จึงปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีลักษณะการเรียนรู้เชิงรุกมากขึ้น โดยให้นักศึกษาเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ (Active Learning) มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสบการณ์ในการปฏิบัติสหกิจศึกษาในสถานประกอบการจริง (เสมือนพนักงานประจำเต็มเวลา) จากเดิม 1 ภาคเรียนเป็น  2 ภาคเรียนทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถและฝึกฝนประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต

Scroll to Top